สถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ และไปได้สะดวกสบาย แถมยังมีสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่อยู่คู่กับชาว จ.นครปฐม มาช้านาน และเป็นที่รู้จักกันดี วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม สถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพฯ
![]() นมัสการพระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม |
ช่วง วันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีอยู่ไม่มาก การหาสถานที่ท่องเที่ยว แบบไปเช้า-เย็นกลับ และมีแบบครบรูปแบบพอที่คุณจะพาครอบครัวไปเที่ยวได้นั้นคงมีอยู่ไม่มาก แต่หนึ่งในนั้นคงมี จ.นครปฐม เข้าไปด้วย..แล้วที่นี่มีอะไรที่น่าสนใจ ถ้าใครที่เคยไป จ.นครปฐม คงไม่พลาดข้าวหมูแดง ที่มีอยู่มากมายหลายร้าน รอให้คุณได้ไปชิม ลิ้มรสกัน รวมกระทั่งของฝากจากร้านของฝากที่มีอยู่ทั่วไปของ จ.นครปฐม และแน่นอนว่าสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและอยู่คู่กับคนนครปฐมมานั้น คือ พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพ นับถือ ของคนนครปฐม ![]() พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนทันตธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานสำคัญที่ยิ่งใหญ่ โดดเด่นมองเห็นแต่ไกล คู่บ้านคู่เมืองไทยและเมืองนครปฐมมานาน ตั้งอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม เป็นพระสถูปเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความเก่าแก่มากจัดเป็นพุทธสถานรุ่นแรกๆ ที่พบในประเทศไทยมีตำนานเกี่ยวกับองค์พระเจดีย์อยู่หลายเรื่อง เช่นเรื่องพระยากง-พระยาพาน ที่ได้กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์นี้ องค์พระเจดีย์องค์เดิมเป็นรูปทรงโอสำหรับตักน้ำหรือบาตรคว่ำ มีส่วนสูง 18 วา 2 ศอก ต่อมาได้มีผู้ศรัทธาปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมเป็นระยะๆ จนกลายเป็นพุทธเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงบาตรคว่ำ ยอดปรางค์ สูง 40 วา 2 ศอก
การบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ครั้งใหญ่ เริ่มดำเนินการ ในปี พ.ศ.2396 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงปีที่เสด็จสวรรคต พ.ศ.2411ได้เปลี่ยนรูปทรงใหม่เป็นพระเจดีย์ แบบสถาปัตยกรรมไทยรูประฆังคว่ำยอดแหลมปากผาย โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องเคลือบ ครอบพระมหาสถูปรูปทรงบาตรคว่ำยอดปรางค์องค์เดิมไว้ มีพระวิหาร 4 ทิศ และพระวิหารคตระเบียงจารึกคาถาธรรม (ธรรมเจดีย์) ล้อมรอบองค์พระมหาสถูป “พระปฐมเจดีย์” พร้อมด้วยซุ้มระฆังจำนวน 24 หลัง และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถพระวิหารโรงธรรม พร้อมด้วยกุฏิสงฆ์ประจำวัดอีกจำนวน 24 หลัง ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดให้ปฏิสังขรณ์จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ เมื่อถึงรัชกาลที่ 6 ปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่าง ๆ ไว้ที่ ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชบูชนียบพิตร มีความสูง 12 ศอก 4 นิ้ว แล้วนำไปประดิษฐานที่ซุ้มพระปฐมเจดีย์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 และถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และต่อมารัชกาลที่ 7 โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2509 ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยแตกร้าวหลายแห่ง กระเบื้องที่ประดับหลุดร่วงลงมา จึงได้แจ้งให้ทางการทราบ จากการสำรวจพบว่าองค์พระมีความชำรุดเสียหายมากรัฐบาลจึงได้อนุมัติงบประมาณ และให้กรมโยธาธิการ และกรมศิลปากร ได้ลงมือทำการ ซ่อมแซมบูรณะมาตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2518 สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2524 เป็นองค์พระปฐมเจดีย์ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้
|
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก : www.teawdd.com
และภาพสวยๆ จาก : อินเตอร์เน็ต